Welcome to My Blog

ยินดีต้อนรับสู่
Blog รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

เส้นทางสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์


เส้นทางสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

สวัสดีครับในที่สุดวันที่คนไทยมีความกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แม้ว่าจะมีคนที่ถูกใจ หรือคนที่ไม่ถูกใจ กับคำตัดสินของผู้พิพากษาก็ตาม แต่ก็ต้องขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้บ้านเมืองสงบแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม อย่างไรก็ตาม เดือนมีนาคมนี้พวกเราก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปครับ เอาแบบเดือนต่อเดือนเลยก็แล้วกัน ผมอยากขอให้ท่านทั้งหลายที่กำลังคิดมิดีมิร้ายต่อประเทศไทย “หยุดทำร้ายประเทศไทย” เถอะครับ ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องการความสงบ ต้องการวิถีชีวิตแบบเดิมๆ กลับมาสู่ชีวิตของเค้า “ขอบคุณด้วยใจจริงครับ” หันกลับมาว่าเรื่องที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังกันดีกว่า

ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา “มอดินแดง” ได้จัดกิจกรรมที่สำคัญหลายกิจกรรม “การแข่งขันขอนแก่นมาราธอนนานาชาติ ครั้งที่ ๗” ซึ่งเป็นกิจกรรมระดับโลกไปแล้วครับ ในแต่ละปีจะมีนักวิ่งจากทั่วทุกสาระทิศทั้งนักวิ่งไทยและต่างประเทศเข้ามาวิ่งเป็นจำนวนมากปีละประมาณ ๔-๕๐,๐๐๐ คน บางปีนักวิ่งไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ บางปีก็เป็นนักวิ่งจากต่างชาติได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลพวงของกิจกรรมนี้คือ การส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการวิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นขึ้นเป็นอย่างมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านใดที่ยังไม่เคยเข้าร่วมการวิ่งในเวทีนี้ ผมอยากเชิญชวนท่านเข้าร่วมซึมซับกับบรรยากาศที่ยิ่งใหญ่ของโลกสักครั้งครับ

ในช่วงปลายเดือนมกราคมอีกเช่นกัน ฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มอดินแดง ได้จัดกิจกรรมประชุมวิชาการ “การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๒” และ “การประกวดแนวคิดสร้างสรรค์ประจำปี ๒๕๕๓ (Creative Thinking Contest 2010)” ซึ่งกิจกรรมทั้งสองจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเช่นกัน

การประชุมวิชาการ “การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๒” จะเป็นการประชุมวิชาการในระดับชาติและนานาชาติ โดยเปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักพัฒนา องค์กรเอกชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นและนำสู่การใช้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป โดยปีนี้ได้จัดกิจกรรมขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ซึ่งเป็น “ประตูสู่อินโดจีน” ของมอดินแดง มีคนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ๔๐๐-๕๐๐ คน โดยมี ศาสตราจารย์กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยจะเป็นขุมปัญญาในการขับเคลื่อนชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร” ซึ่งองค์ปาฐกได้ให้ข้อคิด และท้าทายสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญในการพัฒนาชนบทในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คนไทยหรือคนในภูมิภาคนี้ต้องมีความรู้เรื่องของภูมิภาคดีกว่าคยนจากภูมิภาคอื่น ต้องให้คนจากภูมิภาคอื่นมาเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวกับ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจากพวกเรา ซึ่งผมก็เห็นด้วยในประเด็นนี้ และท่านขอให้เราจัดการประชุมในเวทีนี้เป็น “เวทีระดับนานาชาติ” ที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นในโอกาสต่อไป

สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกับ SCG Paper และ เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น จัดกิจกรรมการประกวด การประกวดแนวคิดสร้างสรรค์ประจำปี ๒๕๕๓ ขึ้นเป็นปีที่สองต่อเนื่องกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการกระตุ้นให้เยาวนชนของไทยเราได้พัฒนาแนวความคิดในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ซึ่งในปีนี้คณะกรรมการจัดงานได้กำหนดหัวข้อของงานไว้ที่ “Rethink – Reuse – Recycle” ซึ่งเป็นแนวคิดให้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กระดาษที่ใช้งานแล้ว กิจกรรมจัดขึ้นในวันที่ 30-31 มกราคม ที่ผ่านมา ณ ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น โดยมี ผมได้ทำหน้าที่เป็นประธานกล่าวเปิดงานและเป็นคณะกรรมการในการตัดสินครั้งนี้ ร่วมกับ คณะกรรมการจากหน่วยงานอื่นอีก ๓ ท่าน การประกวดจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทประกอบด้วย ผลการประกวดผลงานของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและผลงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า ๒๐๐ ผลงาน และคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกผลงานให้เหลือเพียงกลุ่มละ ๕ ผลงาน เข้ารอบสุดท้าย และนำเสนอผลงานในรอบสุดท้ายที่เซ็นทรัลพลาซา จังหวัดขอนแก่น

และผลการตัดสินของคณะกรรมการจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

รางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมและปวช. ได้แก่ ทีม Re-Design Team ชื่อผลงาน : เก้าอี้นั่งสบาย จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ฃ ฃวด ชื่อผลงาน : โคมไฟแผงไข่กระดาษ จากโรงเรียนสาธิต ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม เก้าอี้พื้นที่เพื่อพ่อ ชื่อผลงาน : เก้าอี้พื้นที่เพื่อพ่อจากโรงเรียนสาธิตศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ทีม MY WORLD ชื่อผลงาน : MY HOME จากคณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม C.P.B ชื่อผลงาน : C.P.B จากคณะออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีม Green Three ชื่อผลงาน : The Mummy Green 3 Stool จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รางวัล Popular Vote ได้แก่ทีม : M.E.K. ชื่อผลงาน : Mosquito Trapจากโรงเรียนสาธิตศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดกระดาษ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยขอนแก่น การแสดงโชว์จากน้องๆ โรงเรียนอนุบาลสาธิต การสอนประดิษฐ์กล่องของขวัญและดอกไม้กระดาษ จากโรงเรียนมหาวิชานุกูล จังหวัดมหาสารคาม รวมถึงการนำผลงานนักเรียนและนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ มาจัดแสดงโชว์ในงานอีกด้วย ผลงานการออกแบบจาก รร.อาชีวศึกษาขอนแก่น ผลงานกราฟิกจากคณะสถาปัตยกรรมมหาลัยขอนแก่น การประดิษฐ์ชิ้นงานจากกระดาษ จากคณะศึกษาศาสตร์มหาลัยขอนแก่น การวาดภาพเหมือนจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากจะเป็นการคืนชีวิตให้กระดาษที่ใช้แล้ว โครงการดังกล่าวนี้ยังช่วยรักษาสภาวะแวดล้อมของโลกที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ได้ด้วยครับ

พลังงานทดแทนกับหน่วยทหารบริเวณชายแดน







เมื่อวานนี้ (๒๐ มีนาคม) ผมได้มีโอกาสเดินทางไปประเมินการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนในหน่วยทหทารที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณเขาพระวิหาร เพื่อที่จะขยายผลนำไปประยุกต์ใช้กับฐานปฏิบัติการทหารตามแนวเขตชายแดนไทย-กัมพูชาอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ต่อไป



ผมออกเดินทางจากขอนแก่นตั้งแต่เช้าตรู่ (๐๖๐๐ น.) ไปถึงกองกำลังสุรนารีในพื้นที่ประมาณ ๑๐๓๐ น. เข้าฟังการบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับผู้บังคับบัญชาและผู้รับผิดชอบโครงการ หลังจากกินข้าวเที่ยงแล้วก็ออกเยี่ยมพื้นที่ต่างๆ เพื่อดูโครงการนำร่องและความต้องการการใช้พลังงานทดแทนในฐานปฏิบัติการทหาร



ฐานปฏิบัติการทหารแรกที่ผมได้เข้าไปคือ ฐานสัตตะโสม ซึ่งเป็นฐานอยู่บนยอดเขาริมหน้าผาสามารถมองเห็นเขาพระวิหารได้ (ดูจากรูปที่แนบได้ครับ) มีทหารอยูหลายนาย ความต้องการพลังงานของฐานปฏิบัติการคือ ในสำหรับการสื่อสาร แสงสว่าง เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึงได้ ในแต่ละฐานปฏิบัติการจะต้องมีการ stanby อุปกรณ์สื่อสารไว้ตลอดเวลา ทำให้แบตเตอรี่ของอุปกรณ์สื่อสารเสื่อมเร็วขึ้นเพราะต้องทำการชาร์จอยู่ตลอดเวลา และแบตเตอรี่แต่ละก้อนก็มาราคาแพง ในเวลาค่ำคืนช่วงหัวค่ำก็ไม่มีไฟฟ้าแสงสว่างใช้งานต้องจุดเทียนบ้าง ใช้กระบอกไฟฉายบ้างเพื่อทำภารกิจส่วนตัว และที่สำคัญต้องชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือเพื่อใช้พูดคุยกับครอบครัวหรือญาติพี่น้อง การใช้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ก็จะช่วยให้การสื่อสารทางทหารสามารถที่จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณ ขณะเดียวกัน ก็สามารถเพ่ิมคุณภาพชีวิตให้แก่ทหารในฐานปฏิบัติการได้ โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมตรงเข้ากับอุปกรณ์สื่อสารในช่วงกลางวัน และชาร์จแบตเตอรี่เอาไว้ใช้เพื่อแสงสว่างในเวลากลางคืนซึ่งใช้หลอด LED ที่กินไฟน้อยมากครับหลอดหนึ่งแค่ ๓.๕ วัตต์ แต่ให้แสงสว่างเท่ากับหลอดไฟ ๖๐ วัตต์



หลังจากนั้ืนก็ไปเยี่ยมฐานปฏิบัติการอื่นๆ อีก ซึ่งแต่ละฐานก็มีความต้องการที่เหมือนกัน ผมลืมไปเรื่องหนึ่งคือ เครื่องสูบน้ำ เนื่องจากแต่ละฐานจะไม่มีแหล่งน้ำอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงต้องใช้รถบรรทุกวิ่งไปขนน้ำที่อำเภอกันทรลักษณ์ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ ๘๐ กิโลเมตร วันหนึ่งต้องขนสองเที่ยวต้องใช้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงหลายพันบาทครับ ทางโครงการได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ใช้ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้ประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี และทหารก็สามารถมีน้ำไว้ใช้ได้ตลอดเวลา



ผมเดินทางกลับจากฐานปฏิบัติการที่กันทรลักษณ์เวลาประมาณ ๑๗๓๐ น. และกลับถึงขอนแก่นประมาณ ๒๒๐๐ น. โดยสวัสดิภาพ



การเดินทางครั้งนี้ให้ความรู้สึกที่ดีที่จะได้มีโอกาสช่วยเหลือทหารที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ซึ่งแน่นอนไม่มีอะไรที่จะสะดวกสบายเหมือนพวกเราที่อยู่ในแนวหลัง แม้จะเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยตามที่โครงการจะทำให้ก็ตาม แต่มีคุณค่าอย่างมหาศาลกับทหารที่อยู่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก



ขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำให้ผมได้มีโอกาสที่ดีๆ ในครั้งนี้ครับ